ออกแบบบ้านอย่างเข้าใจทิศแดด ทิศลม อยู่สบายแถมประหยัดค่าไฟได้เยอะ

Pattareeya Pattareeya
Objekt 336: Traumhaftes Einfamilienhaus mit Panoramablick , meier architekten zürich meier architekten zürich Modern Garden Wood Wood effect
Loading admin actions …

อากาศเมืองไทยร้อนขึ้นทุกวัน และสิ่งที่เรียกกว่าสภาพอากาศนั้นก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงในการการออกแบบบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้

ด้วยลักษณะบ้านในเมืองไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากรูปทรงบ้านแบบฝรั่ง บ้างเป็นบ้านแบบโมเดิร์นไม่มีชายคาและเน้นกระจกรอบบ้าน บ้างเป็นบ้านทรงตึกหน้าต่างน้อย คราวนี้พอจะนำความสวยงามมาผนวกกับอากาศบ้านเราก็อาจอยู่ยากขึ้นมาสักหน่อย เพราะบ้านเหล่านั้นได้รับการออกแบบมาให้เปิดรับแสงแดดอย่างเต็มที่ หลังฤดูหนาวที่โหดร้ายผ่านพ้นไป หรือทำบ้านให้มีหน้าต่างน้อยเพื่อเก็บกักความอบอุ่นไว้ในตัวบ้าน ขณะที่เมืองไทยมีสภาพอากาศแบบร้อนชื้น มีฝน แม้ทิศทางของแดดและลมที่พัดเข้าสู่ตัวบ้านในแต่ละช่วงของปี ยังไม่เหมือนกัน การออกแบบบ้านบนหลักความเข้าใจถึงสภาพอากาศเมืองไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สถาปนิกหรือแม้กระทั่งตัวเจ้าของบ้านเองจำเป็นต้องคำนึงถึง

เมื่อรู้และเข้าใจ จะนำมาประยุกต์ใช้กับลักษณะทางกายภาพของบ้านแบบที่เจ้าของบ้านต้องการก็จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากจะไม่ต้องมาต่อเติมหรือปรับแก้เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น ฝนสาด น้ำรั่วซึม ยังช่วยในแง่การประหยัดพลังงาน ทำให้บ้านเย็นสบาย ประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย

เลือกทิศอย่างไรให้บ้านดี

เริ่มต้นที่การดูที่ตั้งของบ้าน ทั้งผังที่ดินและทิศของการวางตัวบ้านกันก่อนเลย หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับหลักฮวงจุ้ยที่ว่ากันว่าทำอย่างไรจะให้บ้านตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทำเลให้คุณ คำว่าฮวงจุ้ยดีในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่การสร้างความสิริมงคแก่ผู้อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติรอบข้างแล้วดีอีกด้วย 

ฮวงจุ้ยนั้นหมายถึงลมและน้ำ คราวนี้ต่อให้คุณไม่ได้เชื่อในศาสตร์ของจีนแขนงนี้ แต่ก็ยังปฏิเสธเรื่องธรรมชาติไม่ได้อยู่ดี การเลือกทิศทางที่ตั้งบ้านให้ดี ให้อยู่สบายนั้นจึงไม่พ้นไปจากคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้บ้านของเราสามารถรับกระแสพลังงานจากลมธรรมชาติได้ดีที่สุด นั่นเอง

โบราณว่าต้องดูฟ้าดูฝน

ฟ้าฝนในที่นี้ก็คือสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทยนั่นเอง เมื่ออยากรู้ว่าควรตั้งบ้านในทิศไหน ก็ควรรู้ว่าแต่ละฤดูทิศลมและแดดจะเปลี่ยนไปอย่างไร 

ทั้งนี้ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นลมที่พัดผ่านประเทศไทย ส่วนเดือนมีนาคม-ตุลาคม ซึ่งเป็นหน้าร้อนและหน้าฝน ก็จะเป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาเป็นหลัก เมื่อประกอบกับที่ตั้งของประเทศไทยแล้ว ลมที่พัดมาส่วนใหญ่จึงมาทางทิศ(ค่อนไปทาง)ใต้และเหนือเป็นสำคัญ สำหรับบ้านที่ต้องการรับลมตลอดปี จึงนิยมปลูกบ้านในแนวเหนือใต้กันนั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ลืมสร้างช่อง เช่น ประตู หน้าต่าง ไว้ให้ลมผ่านเข้า-ออกได้อย่างสะดวกด้วย

ห้องนอนหรือเตาอบ

ทิศของแดดเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการวางทิศบ้าน ซึ่งการวางบ้านในแนวเหนือใต้นั้นก็สามารถแก้ปัญหาในด้านนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะการหันหน้าบ้านไปในทางทิศเหนือ ที่จะทำให้หน้าบ้านรับแดดน้อยกว่า 

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้การส่องของแดดยังมีผลต่อการเลือกวางผังห้องต่างๆ ในบ้านอีกด้วย เช่น ห้องนอนควรตั้งอยู่ในทิศตะวันออก เพื่อจะได้รับแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า แล้วเมื่อดวงอาทิตย์เปลี่ยนทิศในตอนบ่าย ห้องนอนก็จะไม่ต้องรับแสงแดดจัดๆ จนเกิดเป็นความร้อนสะสมในตอนค่ำ ทำให้ห้องนอนเย็นสบายพร้อมนอน ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ

แสงแดดช่วยให้ห้องน้ำดูดี

ในทางตรงกันข้าม ห้องที่นิยมจัดวางไว้ทางทิศตะวันตกหรือทิศรับแสงมากๆ มักจะเป็นห้องน้ำ นอกจากแสงที่ส่องเข้ามาจะทำให้ห้องน้ำดูสว่าง สร้างการมองเห็นให้ได้ดีในเวลากลางวันโดยไม่ต้องเปิดไฟ ความสำคัญอีกข้อหนึ่งยังรวมถึงการใช้แสงแดดช่วยทำให้ห้องน้ำแห้ง ลดความอับชื้น ทั้งยังเป็นการฆ่าเชื้อโรคไปกลายๆ อีกด้วย

หาทางระบายอากาศให้ห้องครัว

เช่นที่กล่าวไป บ้านที่ดีควรมีลมโกรก อากาศถ่ายเทได้ดี การไหลเวียนของลมที่ดีนี้ยังรวมไปถึงส่วนของห้องครัว ซึ่งต้องอาศัยการระบายอากาศเป็นอย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะครัวไทยที่มักมีการปรุงอาหารที่มีกลิ่นแรงอยู่เสมอ ห้องครัวที่ดีจึงควรออกแบบให้มีหน้าต่างหรือที่ระบายลมได้เพียงพอ  แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องปริมาณแสงที่จะส่องผ่านหน้าต่างเข้ามาด้วย เพราะถ้าส่องเข้าครัวมาทำให้ห้องครัวร้อนเกินไป ก็ไม่เหมาะเหมือนกัน

ห้องนั่งเล่นโปร่งสบาย

บ้านไทยในสมัยโบราณมักทำใต้ถุนสูงหรือยกพื้นทำชานบ้านไว้นั่งเล่น เรื่องใต้ถุนสูงนี้นอกจากเป็นประโยชน์ในฤดูน้ำหลาก ยังเป็นที่ไว้นั่งเล่นได้อีกด้วย แต่ด้วยความนิยมด้านสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อจำกัดด้านพื้นที่ ยิ่งบ้านในกรุงเทพฯ จะทำอย่างภูมิปัญญาดั้งเดิมก็คงไม่เหมาะ ห้องนั่งเล่นในบ้านยุคนี้จึงมักเป็นห้องอยู่ในตัวบ้าน และควรออกแบบให้ห้องโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก จะได้นั่งสบาย เช่น มีช่องหน้าต่างให้ลมได้พัดผ่าน มีแสงสว่างส่องเข้ามาได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรสว่างมากเกินไป หรือมีแดดส่องมากเกินไปจนร้อน

ระบายความร้อนที่สะสมมาทั้งวันและรับลมในช่วงเย็น

เวลาออกแบบบ้าน นักออกแบบย่อมต้องคำนึงการทำให้บ้านเย็น โดยนอกจากการศึกษาเรื่องสภาพอากาศแล้วยังมีวิธีมากมายมาป้องกันความร้อนให้บ้าน เช่น ติดฉนวนกันความร้อนที่หลังคา ก่อกำแพงอิฐมอญแบบผนังสองชั้นโดยมีที่ว่างตรงกลางเพื่อระบายความร้อน เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้น การเปิดบ้านให้อากาศได้เข้าสู่ตัวบ้านและระบายความร้อนออกไปบ้างก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อมีลมไหลผ่านก็จะทำให้ตัวบ้านลดอุณหภูมิที่สะสมไว้ทั้งวันลง หลักการนี้ยังนำไปใช้ได้กับห้องต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงานได้อีกด้วย เช่น ในตอนเย็นให้เปิดห้องนอนให้ลมระบายเข้าออกก่อนสัก 15 นาที ก่อนเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็จะช่วยให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักน้อยลง

สวนสวยด้วยแดดช่วยสังเคราะห์แสง

อีกส่วนของบ้านที่ต้องคำนึงถึงเรื่องแสงแดดและที่ตั้ง ก็คือมุมสวนอันเขียวขจี ซึ่งต้นไม้จำเป็นที่จะต้องใช้แดดในการสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร การจัดสวนจึงนิยมจัดไว้ในส่วนที่แสงแดดส่องถึง แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องชนิดของต้นไม้ในสวนนั้นๆ ด้วย อย่างไม้ประดับหรือไม้กระถางบางชนิดเป็นไม้รำไร อาจไม่นิยมแสงแดดนัก หรือต้องการแค่แดดอ่อนๆ ตอนเช้า 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการย้ายทิศของแดดในแต่ละช่วงของปี ด้วยแกนโลกเอียง เมืองไทยที่ตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรก็จะได้รับแดดจากดวงอาทิตย์ในทิศใต้มากกว่าทิศเหนือ โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมถึงมกราคม ทั้งนี้หลังจากเดือนธันวาคมที่ดวงอาทิตย์โคจรมาทิศใต้สุด ก็จะเริ่มโคจรไปทิศเหนืออีกครั้ง แดดก็จะเริ่มย้ายมาทางทิศเหนือมากขึ้น จนมาอยู่เหนือสุดในเดือนมิถุนายน วนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป ถ้าศึกษาไว้สักหน่อย จะได้ไม่ต้องเหนื่อยมาย้ายต้นไม้ตามแดดอยู่บ่อยๆ 

ทางเลือกในการประหยัดพลังงาน

หลังจากศึกษาเรื่องทิศที่ตั้งบ้านที่สอดคล้องกับสภาพอากาศเมืองไทยกันไปแล้ว น่าจะพอทำให้เราเลือกออกแบบบ้านเพื่อทำให้บ้านอยู่สบาย ช่วยลดพลังงานการใช้ไฟฟ้าไปได้บ้าง นอกจากนี้ก็ยังมีอีกทางเลือกของการประหยัดพลังงานให้ตัวบ้าน ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้รับแดด สังเคราะห์พลังงานจากแสงอาทิตย์มาเป็พลังงานใช้ในครัวเรือน ทั้งนี้การติดแผงโซลาร์เซลล์อาจจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่หากงบประมาณเอื้ออำนวย ก็นับเป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับที่แดดดีๆ อย่างบ้านเรา 

ติดตั้งได้หลายจุด

การติดตั้งโซลาร์เซลล์เหนือหลังคาสามารถทำได้หลายแบบ อาจจะติดบนหลังคาบ้านบางส่วน หรือจะติดตั้งทำหลังคาโรงรถอย่างนี้ไปเลยก็รับแดดได้ตรงดีเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ เช่นที่บอกไปถึงทิศทางแดดในเมืองไทยที่จะส่องเข้ามาทางใต้มากกว่าทางเหนือ จึงนิยมติดแผงโซลาร์เซลล์ให้หันไปทางด้านใต้เพื่อรับแสงอาทิตย์ได้ยาวนานกว่านั่นเอง

Need help with your home project?
Get in touch!

Highlights from our magazine